Logo
บริษัท เอสโก้ พรีเมี่ยม จำกัด
Esco Premium Co., Ltd.

การยกเคลื่อนย้ายของหนักกับการใส่เข็มขัดพยุงหลัง

05/03/2557 13:26:28 1,480

สาเหตุของการปวดหลังจากการทำงาน

อาการปวดหลังจากการทำงาน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งมักมีอาการปวดที่บริเวณเอวและหลัง เมื่อพักผ่อนก็จะมีอาการดีขึ้น แต่เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวทำงาน ก็จะเริ่มมีอาการปวดหลังขึ้นอีก อาการปวดหลังเรื้อรังนี้จะส่งผลไปถึงการหยุดงาน การสูญเสียรายได้ การเสียค่ารักษาพยาบาล

สาเหตุ อาการปวดหลังของคนกลุ่มนี้ มักเกิดจากต้องคร่ำเคร่งกับการทำงาน ก้มตัวยกของหนัก ทำงานอยู่ในท่าเดียวกันนานๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ มีรายงานประเทศอุตสาหกรรม มีอุบัติการณ์ของอาการปวดหลังสูง เช่น สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยปวดหลัง ร้อยละ ๕ ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด สำหรับประเทศไทยในแต่ละปีพนักงานในสถานประกอบกิจการประสบปัญหาบาดเจ็บจากการ ทำงานที่มีสาเหตุจากท่าทางการทำงาน และการยกเคลื่อนย้ายของหนักด้วยการใช้แรงคน จนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ทำกายภาพบำบัดมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี เช่น พ.ศ. ๒๕๔๙ มีจำนวน ๑,๒๕๑ ราย  พ.ศ. ๒๕๕๐ มีจำนวน ๒,๓๙๕ ราย พ.ศ. ๒๕๕๑ มีจำนวน ๕,๙๒๕ ราย ตามลำดับ (สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม)

ข้อเสนอแนะการใช้เข็มขัดพยุงหลัง

เข็มขัดพยุงหลัง (Back support) นับวันพนักงานในสถานประกอบกิจการยิ่งมีความนิยมนำมาสวมใส่เสมือนเป็นอุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเช่นเดียวกับหมวกหรือรองเท้านิรภัยที่ใช้ในขณะ ทำงาน มากขึ้นทุกที

เข็มขัด พยุงหลังมีประโยชน์ในพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บและกำลังฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อ กลับเข้าทำงานเดิม การใส่จะมีประโยชน์มากในช่วงแรก เพื่อลดอาการเจ็บ แต่ควรจะใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ

การที่คิดว่าการใส่เข็มขัดพยุงหลังแล้วจะป้องกันอาการปวดหลังได้นั้นเป็นความคิดที่ผิด เพราะการป้องกันอาการปวดหลังจากการทำงาน ต้องอาศัยการจัดสภาพการทำงานให้เหมาะสม น้ำหนักวัตถุที่จะยกไม่หนักเกินกำลัง เมื่อใดที่ยกของหนักเกินกำลังของตนเอง และต้องบิดตัวขณะยก ไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่เข็มขัดพยุงหลังก็จะมีโอกาสปวดหลังได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น พนักงานที่ไม่มีอาการบาดเจ็บหรือปวดหลังไม่จำเป็นต้องใส่เข็มขัดพยุงหลัง นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพร่างกายดังนี้

(๑) กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวทำงานลดลง

เข็มขัด พยุงหลังในทางการแพทย์จะใช้พยุงหลังบรรเทาอาการปวด ในกรณีที่กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหลังผ่าตัดหลัง เพื่อช่วยทำงานแทนกล้ามเนื้อหลังที่อ่อนแอไปหลังจากการผ่าตัด และทำให้การซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บเร็วขึ้น เพราะกล้ามเนื้อทำงานน้อยลง แต่การใส่ระยะยาวจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวทำงานลดลง

มีการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า อัตราการบาดเจ็บหรือปวดหลังระหว่างพนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังกับพนักงานที่ไม่ใส่มีอัตราที่ไม่แตกต่างกัน แต่ พนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังมีการบาดเจ็บที่รุนแรงมากกว่า เนื่องจากพนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังจะรู้สึกมั่นใจมากเมื่อยกของหนัก คิดว่าตนเองมีความปลอดภัยแล้ว ความมั่นใจนี้จะมีผลเสียทำให้ยกของหนักโดยไม่ระมัดระวังเท่ากับในขณะที่ไม่ ได้ใส่เข็มขัดพยุงหลัง

(๒) เกิดไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดขอด และความดันเลือดเพิ่มขึ้น

ได้ มีการศึกษาโดยการตรวจวัดความดันเลือดของพนักงานที่ใส่เข็มขัดพยุงหลังในขณะ ยกของหนัก นั่ง และทำงานเบา พบว่า การใส่เข็มขัดพยุงหลังทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งอธิบายได้ว่า การใส่เข็มขัดพยุงหลังจะมีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ปริมาณเลือดที่ไหลกลับเข้าหัวใจเร็วขึ้น ทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น ผู้ที่มีความดันเลือดสูงอยู่แล้วก็จะสูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลระยะยาวจากการใส่เข็มขัดพยุงหลังที่ทำให้ความดันในช่องท้องสูงนานๆ อาจทำให้เกิดไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดขอดที่ขาและถุงอัณฑะได้

การป้องกันอาการปวดหลัง

อาการ ปวดหลังนี้ แพทย์และนักกายภาพบำบัดเป็นเพียงผู้ช่วยให้อาการปวดทุเลา ซึ่งอาจกลับเป็นได้อีก แต่การปวดหลังนี้สามารถที่จะป้องกันได้ โดยการปฏิบัติดังนี้

(๑) การยกของหนัก ท่าทางในการยกต้องทำให้ถูกวิธีโดยยืนให้ชิดสิ่งของที่จะยก ย่อเข่าให้หลังเป็นแนวตรง แขนแนบชิดลำตัว และอย่ายกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินไป

(๒) หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดียวนานๆ โดยเฉพาะท่านั่ง

(๓) การยืนทำงานนานๆ ควรมีที่พักเท้า

(๔) อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานดังนี้

เพศชาย : ส่วนสูง (เซนติเมตร) – ๑๐๕ = น้ำหนัก ± ๑๐ กิโลกรัม

เพศหญิง: ส่วนสูง (เซนติเมตร) – ๑๑๐ = น้ำหนัก ± ๑๐ กิโลกรัม

เช่น เพศชาย สูง ๑๗๐ เซนติเมตร น้ำหนักควรอยู่ระหว่าง ๖๕ ± ๑๐ กิโลกรัม (๕๕ – ๗๕ กิโลกรัม) เป็นต้น

(๕) ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องและหลังแข็งแรง เช่น การใช้วิธีนอนคว่ำ นำหมอนหนุนใต้ท้อง ค่อยๆยกศีรษะขึ้น ค้างไว้ ๓ – ๕ วินาที แล้วค่อยๆลดศีรษะลง โดยทำซ้ำ ๕ – ๑๐ ครั้ง เป็นต้น

(๖) เมื่อมีอาการปวดหลัง อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางบริเวณที่ปวดนาน ๒๐ – ๓๐ นาที แต่ถ้ามีอาการปวดร้าวลงขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

 

ที่มา : http://www.escopremium.com/articles/id=20

เอกสารที่แนบ