Logo
สบู่​สมุนไพร​
Herbal soap

บทความน่าสนใจ

10/05/2560 00:00:00 1,467

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคข้อเสื่อมเขียนโดย admin, แก้ไขล่าสุด 2011-04-17 02:12:16

จะสังเกตได้ว่าเมื่อเริ่มอายุมากขึ้นจนเลยวัยที่เรียกว่าวัยกลางคน ปัญหาสุขภาพที่พบมากและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน คือ อาการปวดเข่า ซึ่งในบางครั้งอาจจะมองว่าเป็นปัญหาที่ไม่ร้ายแรงนัก เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวไม่ได้หนักหนาอะไร แต่แท้จริงแล้วอาการปวดเข่าในคนกลุ่มนี้มักมีสาเหตุมาจากโรคข้อเสื่อม ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อยับยั้งอาการปวดเข่า และนอกจากวัยกลางคนแล้ว ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานก็สามารถพบอาการปวดเข่านี้ได้เช่นกัน ถ้าคุณเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวมาก มีชีวิตประจำวันที่ต้องใช้งานข้อเข่าบ่อยๆ เช่น ยืน เดิน วิ่ง นานๆ ติดต่อกัน หรือคุณสุภาพสตรีที่นิยมใส่รองเท้าส้นสูง และต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสพบอาการปวดเข่าได้เช่นกัน

โครงสร้างร่างกาย

โรคข้อเสื่อมเกิดจากความผิดปกติของข้อที่พบได้บ่อย เนื่องจากข้อถูกใช้งานอย่างหนักมานาน กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย กระดูกงอกผิดรูป ทำให้เกิดอาการปวดข้อและเคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง โรคข้อเสื่อมจะพบได้วัยกลางคนอายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป ที่อายุ 45-55 ปีจะพบได้ทั้งชายและหญิงเท่าๆ กัน เมื่ออายุมากกว่า 55 ปี จะพบว่าผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย อุบัติการณ์โรคข้อเสื่อมมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

อาการของโรคข้อเสื่อม

อาการของโรคข้อเสื่อมจะค่อยๆ เริ่มเป็นทีละน้อย และสังเกตได้ง่ายๆ ว่ามักจะเกิดในระหว่างที่มีการใช้งานของข้อ และอาการจะดีขึ้นขณะพัก อาจมีอาการฝืดตึงข้อในเวลาที่ตื่นนอน หรืออยู่ในอิริยาบถใดนานๆ บางครั้งมีเสียงกรอบ แกรบเวลาเคลื่อนไหว อาจจะมีอาการข้อตึงหรือติดเวลาพักใช้ข้อนานๆ เมื่อเป็นมากขึ้นหรือกระดูกผิวข้อสึกหรอมากขึ้น จะรู้สึกปวดมากเมื่อใช้งาน อาจพบว่ามีการผิดรูป มีการบวมอักเสบ มีน้ำไขข้อมาก จนไม่สามารถใช้งานข้อนั้นๆได้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้ออย่างชัดเจนได้ด้วยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์

การรักษาโรคข้อเสื่อม

โดยวิธีปกติการรักษาข้อเสื่อมจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค ในระยะแรกของโรคข้อเสื่อมจะเริ่มจากการทำกายภาพบำบัด หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว และรับประทานอาหารให้เหมาะสม ร่วมกับการทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ในรายที่มีการอักเสบใช้ยาต้านการอักเสบร่วมด้วย เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรืออาจใช้ยาทั้งสองร่วมกัน แต่การใช้ยาต้านการอักเสบมักเกิดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารหรือลำไส้คือกัดกระเพาะ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะหรือ

ลำไส้ได้ง่าย หรือเป็นพิษต่อไตอาจทำให้มีอาการบวมน้ำหรือความดันโลหิตสูงเนื่องจากภาวะไตเสื่อม จึงต้องระมัดระวังในการทานยา ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้ยานี้ได้ ทางเลือกต่อมาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้คือการใช้ยาฉีดเฉพาะที่กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (local cortisone injection) เพื่อลดการอักเสบของข้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดและการสูญเสียการเคลื่อนไหวของข้อ

   แต่ในปัจจุบันได้มีการผลิตสารกลูโคซามีนซัลเฟตซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่หุ้มรอบส่วนปลายของกระดูกในข้อ มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดครีมทาผิว และชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งพบว่าสารกลูโคซามีนซัลเฟตนี้ไม่เพียงแต่จะสามารถเข้าไปทดแทนในเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนเท่านั้นแต่ยังไปกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์สารโปรติโอไกลแคนอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบในกระดูกอ่อนในข้อเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงทำให้การรักษาโรคข้อเสื่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

   นอกจากนี้การได้รับยากลูโคซามีนซัลเฟตในระดับสูงยังมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในข้อและลดการหลั่งเอ็นไซม์ที่จะออกมาย่อยสลายกระดูกอ่อนอีกด้วย

 


มาทำความรู้จักกับ Glucosamine และ Chondroitin กันเถอะเขียนโดย admin, แก้ไขล่าสุด 2011-04-17 02:17:13

กลูโคซามีน (Glucosamine) เป็นสารประกอบน้ำตาลกลูโคสและกรดอะมิโนกลูตามีน (glutamine) โดยปกติสารนี้ร่างกายสามารถสร้างเองได้ พบตามกระดูกอ่อนทั่วไป (cartilage) เป็นสารตั้งต้นในการสร้างโปรตีน glycosaminoglycans (GAG) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ joint cartilage ซึ่งส่งผลในการยับยั้งการเสื่อมของข้อ และใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมอีกด้วย    

                แต่เมื่ออายุของเรามากขึ้นเซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อจะทำงานช้าลง ความสามารถในการสังเคราะห์กลูโคซามีนและโปรตีนโอกลัยแคนลดลง จึงทำให้โครงสร้างของกระดูกอ่อนผิวข้ออ่อนแอเสี่ยงต่อการแตกสลายจากการใช้งาน ศักยภาพในการซ่อมแซมการสึกหรอที่เกิดจากการใช้งานของข้อในชีวิตประจำวันจะลดลงด้วย

                แม้ว่ากลูโคซามีนจะเป็นสารที่ร่างกายสร้างได้เอง แต่เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็จะผลิตสารนี้ลดลง ดังนั้นการที่จะลดอาการปวดข้อจากข้อเสื่อมจึงได้มีการนำเอากลูโคซามีนที่เป็นสารสงเคราะห์มาใช้ในการซ่อมแซมผิวข้อ ทั้งโดยการบริโภค และการใช้ทาภายนอก ซึ่งในต่างประเทศ ก็ได้มีการผลิตกลูโคซามีนชนิดครีมออกมาจำหน่ายมากมาย ซึ่งสะดวกและปลอดภัย เพราะเป็นยาใช้ทาภายนอกนั่นเอง

คอนดรอยติน (chondroitin) เป็น glycosaminoglycan ที่มีมากในกระดูกอ่อน ทำหน้าที่ในการขัดขวางเอนไซม์ในการย่อยสลายกระดูกอ่อนภายในข้อ และคอนดรอยตินช่วยในการสร้างกระดูกอ่อน เนื่องจากในภาวะปกติเอนไซม์ที่ย่อยสลายกระดูกอ่อนในข้อจะมีปริมาณต่ำ แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเกิดภาวะผิดปกติหรือได้รับความเสียหาย ดังนั้นคอนดรอยตินจะมีผลการรักษาในกรณีดังกล่าวมากกว่าการเสื่อมของข้อตามธรรมชาติ

                ในการศึกษา The Study on Osteoarthritis Progression Prevention (STOPP) พบว่าการใช้คอนดรอยติน(chondroitin)ในโรคข้อเข่าเสื่อมช่วยลดอาการเจ็บข้อและสามารถชะลอการแคบลงของช่องว่างระหว่างข้อ การศึกษานี้มีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 622 ราย จากยุโรปและอเมริกา ผู้เข้าร่วมการศึกษามีอายุระหว่าง 45-80 ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมบริเวณ medial tibiofemoral ผู้เข้าร่วมการศึกษาถูกสุ่มให้ได้รับคอนดรอยติน (chondroitin)ในขนาด 800 มก.วันละครั้ง (n=309) หรือ ได้รับยาหลอก (n=313) เป็นระยะเวลา 24 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ คอนดรอยติน (chondroitin) มีการแคบลงของข้อ 0.07 มม. กลุ่มควบคุมมีการแคบลงของข้อ 0.31 มม. โดยกลุ่มที่ได้รับคอนดรอยติน มีการแคบลงของข้อน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p

กลูโคซามีนและคอนดรอยติน มาจากเหล่งใดได้บ้าง

กลูโคซามีนและคอนดรอยตินเป็นสารที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับขั้นตอนการสกัดว่าสาร 2 สองจะสกัดได้จากขั้นตอนไหน วัตถุดิบที่ใช้ในการสกัดกลูโคซามีนและคอนดรอยตินมีหลากหลาย เช่น จากกระดูกอ่อนของสัตว์บกและสัตว์น้ำ จากเปลือกของสัตว์ทะเลเช่น กุ้ง หอย ปู เป็นต้น

ถ้าเป็นสารที่สกัดจากสัตว์บก จะพบว่าในต่างประเทศบางบริษัทอาจจะใช้กลูโคซามีนสกัดจากระดูกอ่อนของวัว ซึ่งจะมีกลิ่นฉุน จึงไม่เป็นที่นิยมกัน การสกัดกลูโคซามีนจากสัตว์น้ำที่นิยมกันและได้คุณภาพดี คือ จากกระดูกอ่อนปลาฉลาม ส่วนการสกัดสารจากเปลือกสัตว์ทะเล มักจะได้สารไคโตซานมากกว่ากลูโคซามีนและคอนดรอยติน การสกัดกลูโคซามีนจากเปลือกของสัตว์ทะเลนั้น จะได้ปริมาณน้อยและมีคุณภาพต่ำกว่าสารที่สกัดจากกระดูกอ่อนของปลาฉลามข้างต้น

สามารถสรุปประโยชน์ของกลูโคซามีนและคอนดรอยตินออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างและซ่อมแซมมวลกระดูกอ่อนและน้ำในไขข้อ ช่วยบรรเทาอาการปวด ขัด และบวมในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ซึ่งเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ

2. ช่วยให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อมีความแข็งแรงและทนทานต่อแรงกระแทกจากการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือจากการทำงานที่ต้องใช้ข้อ ได้มากขึ้น

3. ช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บของข้อต่อและกล้ามเนื้อที่เกิดจากการฉีกขาดระหว่างออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก

ในปัจจุบันได้มีการสกัดเอาสารกลูโคซามีนและคอนดรอยตินจากไฮโดรไลซ์คาร์ติเลจ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่หุ้มรอบส่วนปลายของกระดูกในข้อ มาผลิตเป็นยาที่มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดครีมทาผิว และชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งพบว่าสารกลูโคซามีนซัลเฟตนี้ไม่เพียงแต่จะสามารถเข้าไปทดแทนในเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนเท่านั้นแต่ยังไปกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์สารโปรติโอไกลแคนอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบในกระดูกอ่อนในข้อเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงทำให้การรักษาโรคข้อเสื่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

                นอกจากนี้การได้รับยากลูโคซามีนซัลเฟตในระดับสูงยังมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในข้อและลดการหลั่งเอ็นไซม์ที่จะออกมาย่อยสลายกระดูกอ่อนอีกด้วย

References:

สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์. สาเหตุปัญหาในโรคข้อเสื่อม. คุ่มือสำหรับประชาชนโรคข้อ-เข่าเสื่อม สมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย

กิตติ โตเต็มโชคชัยการ. มิติใหม่และเรื่องน่ารู้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม .http://www.thailabonline.com/sec21arthritis.htm

Daniel O. Clegg, M.D., Domenic J. Reda, Ph.D. Glucosamine, Chondroitin Sulfate, and the Two in Combination for Painful Knee Osteoarthritis. N Engl J Med 2006; 354:795-808.

http://en.wikipedia.org/wiki/Glucosamine

 


เอกสารที่แนบ