Logo
บริษัท เฟลเวอร์ แอนด์ อะโรเมติก กรุ๊ป จำกัด
FLAVOR & AROMATIC GROUP CO.,LTD.

ยาดม ใช้แล้วมีอันตรายหรือไม่ ?

27/10/2564 14:58:38 1,516

ยาดม ใช้แล้วมีอันตรายหรือไม่ ?

ยาสูดดมเป็นสารเคมีซึ่งสามารถระเหยเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านช่องจมูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจและระบบประสาท และเป็นยาใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ยาสูดดมมีทั้งเป็นน้ำมันสูดดม ยาสูดดมชนิดครีม และชนิดแห้ง
 

          ในปัจจุบันยาดม ซึ่งใช้บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ กำลังเป็นที่นิยมในด้านการผ่อนคลายด้วยกลิ่นบำบัด (Aromatic)  ทั้งในหมู่คนยุคใหม่ และผู้ใหญ่ สาเหตุหนึ่งคือเนื่องจากมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น  และปัจจุบันผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่นิยมดมยาดมแทนการสูบบุหรี่ 

 

ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาดมส่วนใหญ่ 

          ผลิตภัณฑ์ยาดม ส่วนใหญ่ประกอบด้วย 

        - เมนทอล

        - การบูร

        - พิมเสน

        - น้ำมันหอมระเหยและอื่นๆ เช่น น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันเขียว น้ำมันกานพลู หรือน้ำมันยูคาลิปตัส

         - และยังมีน้ำมันระเหยยากช่วยในการละลาย เช่น น้ำมันงา น้ำมันแร่ หรืออาจมีสารสกัดจากสมุนไพรบ้าง

 

คุณประโยชน์ของยาดม

         องค์ประกอบหลักของเมนทอล หรือเรียกว่า เกล็ดสะระแหน่ การบูรและพิมเสน รวมถึงน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้จะทำให้เกิดความรู้สึกเย็น ซ่า ในโพรงจมูก รู้สึกสดชื่น ตื่นตัวได้บ้าง

          - "เมนทอลหรือเกล็ดสะระแหน่"
            มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอมเย็น มีอยู่ในนํ้ามันหอมระเหยที่ได้จากใบมิ้นต์ หรือที่เรียกว่าใบสะระแหน่ฝรั่ง มีประโยชน์ในการขับลม มักใช้แต่งกลิ่นและรสยา เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่อย่างอ่อน ๆ ลดการบวมของหลอดเลือดที่จมูก และลดอาการปวด

            สารนี้เมื่อสัมผัสกับผิวหนังทำให้รู้สึกเย็น แต่ในความเข้มข้นสูงและใช้ติดต่อกัน สารนี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ เมื่อสูดดม และอาจทำให้เกิดปอดอักเสบ 


         - "การบูร"
            มีลักษณะเป็นเกล็ดมันวาว สีขาว มีกลิ่นหอมเย็นฉุน เดิมสกัดจากต้นการบูร แต่ปัจจุบันเป็นสารสังเคราะห์ เนื่องจากทำได้ง่าย ราคาถูกกว่าสกัดจากพืช การบูรถูกดูดซึมทางผิวหนังได้ดี และรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสกับผิวหนังเช่นเดียวกับเมนทอล มีฤทธิ์เป็นยาชาและต้านจุลินทรีย์อย่างอ่อน ๆ ใช้ทาเฉพาะที่แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย และโรคผิวหนัง

            นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง อาจเกิดอันตรายจากการสูดดม เนื่องจากระคายเคืองทางเดินหายใจ

              เคยมีรายงานการชักในเด็กทารกเมื่อกินโดยบังเอิญ มีการนำการบูรมาใส่ในรถยนต์ เพื่อปรับอากาศ ทำให้หอมสดชื่น พบว่าการบูรเป็นสารระเหิดได้ เมื่อใส่ในรถยนต์ที่เปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา การบูรจะระเหิดไปเกาะที่ช่องแอร์ และหากจอดรถยนต์ทิ้งไว้ในที่อากาศร้อน อัตราการระเหิดก็จะเร็วยิ่งขึ้น ทำให้รู้สึกว่าการบูรลดจำนวนลง หากมีการใส่การบูรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้เปิดประตู หรือหน้าต่าวทิ้งไว้ให้ระเหิดออกมาด้านนอก ความเข้มข้นของกลิ่นการบูรเพิ่มขึ้น และทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปอดและตับได้ 

 

            - "พิมเสน"
               มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็ก ๆ แบน ๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อ ๆ กลิ่นหอมเย็น พิมเสนบริสุทธิ์รูปร่างเป็นหกเหลี่ยม ได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่น ๆ แต่ปัจจุบัน ได้จากสารสังเคราะห์ ซึ่งจะมีรสเผ็ดกัดลิ้น ถ้าเป็นของแท้จากธรรมชาติจะไม่กัดลิ้นแต่จะทำให้เย็นปากคอ

              ประโยชน์ทางยา ใช้สูดดมแก้ลมวิงเวียน ทาภายนอกแก้เคล็ดขัดยอก แต่อาจเป็นอันตรายหากสูดดม เนื่องจากสารนี้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ

             นอกจากนี้สารนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นและสงบระบบประสาทส่วนกลาง 

ข้อพึงระวัง และการใช้ยาดมที่ถูกต้อง 

          - การสูดดมยาดมบ่อย ๆ อาจทำให้เยื่อเมือกบุทางเดือนจมูกระคายเคือง หรือเกิดการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจเมื่อสูดดม และอาจทำให้ปอดอักเสบได้  

          - การใช้ยาดมที่ถูกต้อง ควรสูดดมใกล้ ๆ แต่ไม่สัมผัสโดยตรง

          - ไม่ควรให้หลอดยาเข้าไปค้างไว้ในจมูก เพราะสารทุกตัวอาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสัมผัส

          - ควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดยาดมที่สัมผัสจมูกผู้อื่นแล้ว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้

          -  อนึ่งยาดมมีฤทธิ์เพียงลดอาการเพียงชั่วคราว ถ้าเป็นมากควรไปพบแพทย์

          - ยาดมที่เป็นลักษณะยาน้ำ หรือ ยาขี้ผึ้ง ให้ป้ายสำลีหรือผ้าเช็ดหน้า หรือทาบางๆ ที่หน้าอก แล้วสูดไอระเหย หรืออาจทาด้านนอกของจมูก แต่ต้องใช้ยาปริมาณน้อย ๆ

           - หากมีโรคของโพรงจมูกอยู่ เช่น โพรงจมูกอักเสบจากการแพ้ ติดเชื้อในโพรงจมูกหรือไซนัสอักเสบควรหลีกเลี่ยงการใช้ เนื่องจากอาการแพ้ซึ่งอาจมีเยื่อบุโพรงจมูกเสียหายอยู่แล้ว หากสูดยาดมที่มีเข้มข้นมากๆ อาจระคายเคืองมากขึ้น

           - ยาสูดดมนี้อาจเกิดอันตรายกับเด็ก ดังนั้นควรเก็บรักษาไว้ให้ห่างมือเด็ก 

           - ยาหม่องน้ำซึ่งมีข้อบ่งใช้ คือ ทาแก้อาการปวดเมื่อย มีตัวยาหลักคือ เมทิลซาลิซัยเลต ไม่ควรนำมาใช้สูดดม เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ 

              - ยาดมยังอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ผลิตบางชนิด เช่น เมนทอล และการบูร ซึ่งเป็นสารมีผลต่อระบบประสาทจึงอาจทำให้เกิดการเสพติดได้

            แต่การ ”ติดยาดม” โดยทั่วไปนั้นจะแตกต่าง ตรงที่เป็นรูปแบบที่ใช้จนติดเป็นนิสัย คล้ายคลึงกับการที่เราชอบหมุนปากกา ต้องกอดหมอนข้างในเวลานอน โดยสังเกตว่าหากวันไหนที่เราลืมเอายาดมออกจากบ้าน ไม่ได้ดมยาดมตลอดวัน อย่างมากเราอาจรู้สึกอยากสูดยาดมบ้าง แต่เมื่อทำงานหรือเรียนในระหว่างวันเราก็ละเลยความคิดนั้นไปได้ 

             ยาดมเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีประโยชน์ หากรู้จักใช้อย่างถูกวิธี ระมัดระวัง และไม่สูดดมต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อมีอาการผิดปกติควรเลิกใช้ทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

ขอบคุณเนื้อหาเรียบเรียงจาก วอยซ์ทีวี

http://www.trueplookpanya.com

เอกสารที่แนบ