Logo
บริษัท เฟลเวอร์ แอนด์ อะโรเมติก กรุ๊ป จำกัด
FLAVOR & AROMATIC GROUP CO.,LTD.

การวิจัยพืชกระท่อม : ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม

16/02/2565 10:09:20 1,517

การวิจัยพืชกระท่อม : ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม

     พืชกระท่อม (Mitragyna speciosa (Korth.) Havil.) จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เนื่องจากกระท่อมเป็นพืชท้องถิ่นและเป็นสารเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้สนใจดำเนินงานวิจัยเรื่องพืชกระท่อมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินโครงการวิจัยครอบคลุมในมิติวัฒนธรรม พฤติกรรม สุขภาพ วิทยาศาสตร์และกฎหมาย

   

     แบบแผนการใช้พืชกระท่อมและผลกระทบต่อสุขภาพ

      จากการวิจัยที่ผ่านมา พบว่า ชาวบ้านที่ใช้พืชกระท่อม โดยการเคี้ยวใบสด เอาก้านใบออก เคี้ยวครั้งละ 1-3 ใบขึ้นอยู่กับขนาดของใบกระท่อม บางคนใช้เพียงวันละ 1 ครั้ง, ทุกๆ 1 หรือ 2-3 ชั่วโมงต่อคำ หรือเคี้ยวตลอดวัน และส่วนใหญ่ใช้กระท่อมร่วมกับเครื่องดื่มประเภทต่างๆ หรือร่วมกับการสูบใบจาก ผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ใช้ใบกระท่อมเพื่อให้สามารถทำงานได้ทนนาน เพื่อสังสรรค์ และเพื่อรักษาโรค ผู้ใช้พืชกระท่อมส่วนใหญ่มักเคยมีอาการ ‘เมา’ กระท่อมเมื่อใช้เป็นครั้งแรก เมื่อเคี้ยวใบกระท่อมปริมาณมากติดต่อกัน หรือใช้ในขณะที่ท้องว่าง หรือเมื่อใช้ใบกระท่อมชนิดที่ทำให้เมา อาการเมากระท่อมจะมีอาการ แขนขาอ่อนแรง เดินไม่ไหว หน้าแดงชาและตึง หูร้อน หูอื้อและชา ง่วง ซึม ลิ้นชา ตาลาย พร่ามัว มึนหัว ปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อยากอาเจียนแต่ไม่อาเจียน พะอืดพะอม บางรายมีอาการมาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น ตัวสั่น แน่นหน้าอก ปวดปัสสาวะอุจจาระแต่ไม่ถ่าย ร้อนไปทั้งตัว เหงื่อออก อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองภายใน 5-10 นาที ถ้ามีอาการมากต้องนอนพัก ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะมีวิธีการรักษาอาการดังกล่าวด้วยตนเอง เช่น นั่งหรือนอนพัก ทำงานให้เหงื่อออก หรืออาบน้ำเย็น กินน้ำเย็น กินผลไม้เปรี้ยว หรือกินอาหาร เป็นต้น


 

     ผู้ใช้พืชกระท่อมมีพฤติกรรมการใช้และอาการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลในการวินิจฉัยภาวะติดสารเสพติด รวมทั้งมีอาการถอนยาจากใบกระท่อม (kratom withdrawal syndrome) ที่มีลักษณะเฉพาะ ภาวะเสพติดพืชกระท่อมมีลักษณะดังนี้

     - มีความต้องการใช้อย่างมาก เวลาเดินทางไปที่อื่นต้องพกพาใบกระท่อมไปด้วย หากไม่สามารถพกพาใบกระท่อมไปได้ ก็จะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางนั้น จึงมีผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน

     - ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้ เคยพยายามเลิกใช้กระท่อมแต่ไม่สำเร็จ ควบคุมตัวเองยากมากที่จะไม่ใช้กระท่อม

     - มีอาการถอนยา เมื่อลดปริมาณหรือหยุดใช้

     - มีอาการทนต่อฤทธิ์ของพืชกระท่อม (tolerance) ทำให้ต้องใช้ในปริมาณมากขึ้นจึงได้ฤทธิ์เท่าเดิม

     - มีความหมกมุ่นกับการใช้กระท่อม ต้องหากระท่อมมาเคี้ยวให้ได้ทุกวัน บางคนต้องมีกระท่อมอยู่ในปากตลอดเวลา กังวลใจเสมอว่าจะหากระท่อมมาใช้ได้อย่างไร

 

ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการและโรคต่างๆ หลายชนิด เช่น อาการไอ ท้องร่วง ปวดท้อง ปวดฟัน มักจะใช้ใบกระท่อมเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการ และยังใช้รักษาโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น เช่น มีผู้ที่เคยติดยาบ้า เฮโรอิน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เปลี่ยนมาใช้ใบกระท่อมทดแทนสารเสพติดเหล่านั้น เป็นต้น ผู้ที่ใช้เพื่อรักษาโรคเรื้อรังหรือใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น มักจะใช้ใบกระท่อมเป็นประจำจนเกิดภาวะติดกระท่อม

     ปัจจุบันใบพืชกระท่อมมีการแปรรูปเพื่อสะดวกในการใช้ เช่น แปรรูปเป็นกระท่อมผง กระท่อมตากแห้ง หรือนำน้ำต้มใบกระท่อมไปผสมกับสาร/ยาอื่นตามที่ตนเองหรือกลุ่มของตนอยากจะให้มีฤทธิ์ตามที่ต้องการ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า 4x100 ปัจจุบันวัตถุประสงค์ในการใช้พืชกระท่อม รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้ ได้ถูกเปลี่ยนไปจากเดิม กลายเป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งใช้เพื่อความสนุกสนาน คึกคะนอง สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาอาชญากรรม เช่น การลักขโมย การค้ากระท่อม การรวมกลุ่มเพื่อทำพฤติกรรมเสี่ยงหรือผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาสังคม น้ำผสม 4x100 มีส่วนผสมหลายชนิดขึ้นกับผู้ใช้ ส่วนผสมหลักคือ น้ำต้มใบกระท่อม น้ำอัดลม (โค้ก) และยาแก้ไอ หรือยาอื่นๆ ผลกระทบของการใช้สี่คูณร้อยขึ้นกับส่วนผสม และปริมาณของสารที่ใช้ร่วม พืชกระท่อมมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่วนน้ำอัดลมมีสารคาเฟอีนซึ่งกระตุ้นสมองส่วนกลาง ยาแก้ไอทำให้ง่วงซึม หรือยาชนิดอื่นที่นำมาผสมอาจเป็นยานอนหลับมีฤทธิ์กดประสาท เมื่อนำมาผสมเข้าด้วยกันจะออกฤทธิ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว

   

 สมบัติทางเภสัชวิทยา

     พบสารมิตรากัยนิน (mitragynine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์หลักในพืชกระท่อม มีสมบัติทำให้สามารถ ลดปริมาณอาหารและน้ำที่บริโภค ลดการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็กส่วนต้น คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด เพิ่มอัตราการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ บรรเทาอาการถอนยาจากเอทานอลและมอร์ฟีนในสัตว์ทดลองได้ ในการศึกษาความเป็นพิษของใบกระท่อม พบว่า เมื่อให้สารสกัดเมทานอลจากใบกระท่อมแบบเฉียบพลันในขนาด 4.90กรัม/กก. หรือสารสกัดอัลคาลอยด์ในขนาด 173.20 มก./กก. จะทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50% (LD50) การให้สารสกัดเมทานอลจากใบกระท่อมในขนาดสูงทำให้ ระดับเอนไซม์ในตับ ไตรกลีเซอไรด์ และโคเลสเตอรอลสูงขึ้น ส่วนสารสกัดในขนาดสูง 1,000 มก./กก. ทำให้ creatinine สูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นพิษต่อไต แต่ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว ปริมาณอาหารและน้ำที่บริโภค หรือค่าต่างๆ ทางโลหิตวิทยา ส่วนการให้สารสกัดพืชกระท่อมแบบเรื้อรังไม่ได้ก่อให้เกิดอาการพิษที่เด่นชัดในหนูขาว ดังนั้นถ้าบริโภคพืชกระท่อมในขนาดปกติ ความเป็นพิษจะเกิดขึ้นน้อยมาก รวมทั้งได้พัฒนาวิธีวิเคราะห์มิตรากัยนินในพืชกระท่อมหรือในน้ำต้มกระท่อมโดยใช้วิธี ELISA

     การศึกษาที่ผ่านมาได้ให้คำตอบเป็นอย่างดีในด้านแบบแผนการใช้พืชกระท่อม ลักษณะอาการและอาการแสดงของภาวะติดและภาวะขาดกระท่อม มีการพัฒนาเครื่องมือคัดกรองและประเมินอาการของภาวะดังกล่าว และภาวะสุขภาพระยะสั้นของผู้ที่ใช้ใบกระท่อม รวมทั้งองค์ความรู้ทางด้านเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ของพืชกระท่อมในมนุษย์ซึ่งทีมวิจัยพืชกระท่อมจากคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์กำลังดำเนินงานศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ทั้งในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากการใช้พืชกระท่อมและผู้ใช้สารเสพติดชนิดอื่น รวมทั้งในการพัฒนาศักยภาพของพืชสมุนไพรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์อีกด้วย พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะดำเนินการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ งานวิจัยด้านพืชกระท่อมยังเป็นประเด็นที่ควรมีการศึกษาติดตามต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งต้องการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาใช้ในการปรับเปลี่ยนกฎหมายด้านยาเสพติดของประเทศ




 


ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.rdo.psu.ac.th

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, ดร.ดาริกา ใสงาม  หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รศ.ดร.ภญ.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์, ดร.ดาร์เนีย เจ๊ะหะ, ดร.ภญ.สุพัตรา ลิ่มสุวรรณโชติ,

ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์, ผศ.ดร.วันดี อุดมอักษร และ รศ.สมสมร ชิตตระการ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


เอกสารที่แนบ