Logo
บริษัท แอ็กโกร (ประเทศไทย) จำกัด
AG-GRO (Thailand) Co.,Ltd.

ชี้ชะตา'เมโทมิล'ต้นทุนผลิตมะม่วง

19/10/2555 13:58:13 1,484

จากกรณีที่ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย ได้เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการไม่ให้มีการผลิต นำเข้าและจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีดังกล่าว

           จิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวัง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้แทนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าวัตถุอันตราย นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยงานราชการอื่นๆ กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตร กลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้และไม่ใช้วัตถุอันตราย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวัง

           ทั้งนี้ จากความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เสนอให้มีการจัดกลุ่มหลักเกณฑ์ที่มีความคล้ายกันให้อยู่รวมเป็นข้อเดียวกัน และจัดเรียงลำดับความสำคัญของหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เป็นวัตถุอันตรายที่อยู่ในรายการเฝ้าระวัง ซึ่งผลจากการจัดกลุ่มได้รวมหลักเกณฑ์ในการพิจารณาวัตถุอันตรายเพื่อการเฝ้าระวังเหลือ 7 ข้อจากเดิมที่มี 12 ข้อ

           จิรากร เปิดเผยต่อว่า จากกรณีที่มีการเรียกร้องไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นนั้น ขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่าวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ ไดโคโตรฟอส และอีพีเอ็น อาจถูกเปลี่ยนแปลงระดับการควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง) เนื่องจากมีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์เฝ้าระวัง โดยกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด เข้าสู่กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน คาดว่าน่าจะดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ได้ภายในเดือนกันยายน 2555 และจะสรุปผลการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาต่อไป

          “ขอยืนยันว่าปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรยังไม่มีการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนให้แก่สารเคมีทั้ง 4 ชนิดให้แก่ผู้ประกอบการรายใดทั้งนั้น โดยข้อมูลล่าสุดในขณะนี้มีวัตถุอันตรายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,618 ทะเบียน แยกเป็นสารกำจัดวัชพืช 849 ทะเบียน สารกำจัดแมลง 419 ทะเบียน สารป้องกันกำจัดโรคพืช 286 ทะเบียน และสารชนิดอื่น 64 ทะเบียน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

           ขณะที่ มนตรี ศรีนิล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งออกมะม่วงบ้านโป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และกรรมการสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย เห็นด้วยที่กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์การขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิดดังกล่าว และหนึ่งในนั้นคือเมโทมิล สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตและคุณภาพของผลผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งปัจจุบันในตลาดต่างประเทศก็ให้การยอมรับ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของมะม่วงไทย

          "เห็นด้วยอย่างยิ่งหากมีการเปิดทำประชาพิจารณ์ แต่ขอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนจริงๆ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้" มนตรีกล่าวทิ้งท้าย

 

เอกสารที่แนบ